สืบสานประเพณีไทยรามัญ เช้าวันออกพรรษา ๒๕ ตุลาคม ตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ท่าน้ำปากเกร็ด

 

สืบสานประเพณีไทยรามัญ เช้าวันออกพรรษา ๒๕ ตุลาคม

ตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ท่าน้ำปากเกร็ด

ประเพณีตักบาตรทางน้ำเป็นประเพณีในเทศกาลออกพรรษา ซึ่งชาวเกาะเกร็ดและชาวอำเภอปากเกร็ด จะจัดกันในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยคนมอญจะตบแต่งเรือสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์และลูกศิษย์จากวัดต่างๆ พายออกไปรับบิณฑบาตตามบ้านเรือนของชาวพุทธศาสนิกชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรือแต่ละลำส่วนมากจะเป็นเรือขนาดใหญ่ โดยแต่ละลำนั้นจะมีลูกศิษย์ที่ร้องรำทำเพลงดังไปทั่วท้องน้ำอย่างสนุกสนานครึกครื้น

ปัจจุบันเทศบาลนครปากเกร็ดได้สืบสานประเพณีตักบาตรทางน้ำ มีการประกวดตกแต่งเรือสวยงามจัดสถานที่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำต่างๆ โดยรอบ ทั้งหมด ๘ ท่า เพื่อให้ประชาชนได้ใส่บาตรในเทศกาลออกพรรษา และที่ลานใต้สะพานพระรามสี่ ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับชุมชนปากเกร็ด มีการจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-มอญต่างๆ และมีการสาธิตและขายอาหารมอญต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นของชาวไทย-มอญ อันเก่าแก่และดีงาม

งานจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ โดยวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ จะมีการจัดการแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของงานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม และออกบูธสาธิตและขายอาหารมอญต่างๆ (วันสุกดิบ) ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป และวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรือที่รับบิณฑบาตจะออกจากท่าเวลาโดยประมาณ ๐๖.๐๐-๐๘.๐๐ น. โดยเรือที่รับบิณฑบาตจะไปรับบิณฑบาตทั้งหมด ๘ จุด ดังนี้

๑. ท่าเทียบเรือวัดบางจาก
๒. ท่าเทียบเรือวัชรีวงศ์
๓. ท่าเทียบเรือวัดตำหนักเหนือ
๔. ท่าเทียบเรือวัดเกาะพญาเจ่ง
๕. ท่าเทียบเรือเทศบาลนครปากเกร็ด
๖. ท่าเทียบเรือวัดปรมัยยิกาวาส
๗. ท่าเทียบเรือวัดกลางเกร็ด
๘. ท่าเทียบเรือวัดฉิมพลี

และมีการแสดงที่เวทีท่าน้ำปากเกร็ด ตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. เป็นต้นไป

สำหรับท่านที่จะเดินทางมาร่วมงานประเพณีตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ สามารถนำรถมาจอดได้ที่บริเวณลานจอดรถใต้สะพานพระราม ๔ ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลวิภาราม ถึงลานจอดรถหน้าโรงเรียนวัดบ่อนันทวิทยา ถ้าจะให้สะดวกก็เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง ลงป้ายหัวถนนปากเกร็ดบริเวณหน้าวัดบ่อ สถานที่จัดงานจะอยู่บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด จากป้ายรถโดยสารตรงมาไม่เกิน ๑๐๐ เมตร

การแต่งกาย ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันใส่ชุดไทยรามัญมาร่วมงานเพื่อสร้างบรรยากาศ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย-มอญ