You are currently viewing การอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์

การอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์

๑. รูปแบบการทำสวนทุเรียนนนท์
การทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีนั้นนิยมทำกันแบบยกร่อง เพราะเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ลำคลอง แตกต่างจากการปลูกทุเรียนในพื้นที่อื่น การปลูกทุเรียนนนท์นิยมเตรียมหลุมปลูกแบบยกโคกให้สูงจากพื้นดิน ถึงแม้ว่าจะยกร่องสวนอยู่แล้วก็ตาม แต่การยกโคกนี้ไม่ได้ เอาดินที่อื่นมาทำโคก เพียงแต่เอาดินตรงบริเวณที่ต้องการจะปลูกทุเรียนนั้นมาพูนให้สูงเป็นโคก การยกโคกเพื่อระบายน้ำออก เมื่อฝนตกหรือเวลารดน้ำจะได้ไม่ท่วมขังและการถ่ายเทอากาศดีขึ้น เพราะดินในจังหวัดนนทบุรีที่ทำสวนทุเรียนเป็นดินเหนียว การระบายน้ำในสวนจึงมีความสำคัญมาก นอกจากการระบายน้ำที่ดีแล้ว การทำร่องสวนนี้ ยังสามารถใช้กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย ถึงแม้ว่าทุเรียนจะไม่ใช่พืชที่ชอบน้ำ แต่ก็ขาดน้ำไม่ได้ เนื่องจากระบบรากของทุเรียนไวต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำมาก ไม่ว่าจะเป็นการขาดน้ำ การได้รับน้ำมากเกินไป หรือแม้กระทั่งค่าความเค็มของน้ำ ที่เปลี่ยนแปลงไป ล้วนแต่ส่งผลต่อต้นทุเรียนได้อย่างรวดเร็ว (สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี, ม.ป.ป.; กรมวิชาการเกษตร, ๒๕๔๗)

การดูแลทุเรียนตั้งแต่เริ่มปลูกนั้นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ชาวสวนนนท์หลายคนกล่าวว่า “การปลูกทุเรียนของสวนนนท์ เหมือนกับมีลูกอ่อน ต้องการการดูแลเอาใจใส่ยิ่งกว่าทารกเสียอีก” ชาวสวนนนท์ต้องเข้าสวนทุกวัน เพื่อดูแลทุเรียนทุกต้นอย่างทั่วถึง รวมถึงพรรณไม้อื่นในสวนที่ปลูกแซมร่องสวน ไม่ว่าจะเป็น มังคุด มะไฟ มะม่วง มะปราง กล้วย พลู พริกไทย และพืชพรรณอื่นๆ อีกมากมาย แต่จะมีไม้ยืนต้นอีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในสวนทุเรียนนนท์ คือ ทองหลาง เป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้แคมร่องในสวนทุเรียนนนท์ เพื่อเป็นร่มเงาให้กับต้นทุเรียนปลูกใหม่ เป็นค้างให้กับพริกไทยและพลู

ทองหลางยังเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีส่วนช่วยบำรุงให้ดินดี โดยเฉพาะเมื่อใบทองหลางร่วงหล่นลงมาจะเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แก่ต้นทุเรียนในสวน และการย่อยสลายอย่างช้าๆ ของใบทองหลางจะทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องว่างในดินได้เป็นอย่างดี ส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินที่แน่นเหนียว โปร่งและระบายน้ำได้ดีขึ้น

ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์ในทุกเรื่อง รวมถึงการทำสวน ชาวสวนนนท์เพียงแต่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้บ้าง แต่ก็ยังคงใช้วิธีที่ทำกันมาแต่โบราณในสวนราชาไม้ผล ของพวกเขา เช่น การรดน้ำ แม้จะมีระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด ที่ช่วยให้การทำสวนง่ายขึ้น ชาวสวนก็มีการวางระบบน้ำเพื่อทุ่นแรงบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ยังคงใช้แครงรดน้ำด้วยแรงงานในทุกสวน เพื่อให้แน่ใจเรื่องการควบคุมปริมาณน้ำของต้นทุเรียนได้อย่างแม่นยำในทุกระยะ ตั้งแต่บำรุงต้น ออกดอก ติดผล จนถึงเก็บเกี่ยว หรือแม้แต่การเพิ่มผลผลิตให้กับต้นทุเรียน การปัดดอกของทุเรียนในจังหวัดอื่นๆ สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับทุเรียนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีบางสวนในจังหวัดนนทบุรีทำการปัดดอก ก็ต้องมีการเลือกจับคู่พันธุ์ที่เหมาะสมในการปัด และมีการตัดผลส่วนเกินออกเพื่อบำรุงผลให้สมบูรณ์ที่สุด และต้องใช้เทคนิคและประสบการณ์เฉพาะบุคคล จึงจะทำให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์ เพราะชาวสวนส่วนใหญ่เชื่อว่าการปัดดอกทำให้ผลทุเรียนไม่มีคุณภาพและไม่อร่อย จึงนิยมให้มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยอาศัยค้างคาวเป็นตัวช่วยผสมเกสรตามแบบฉบับดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันมีการเลี้ยงชันโรงไว้ในสวน เพื่อช่วยผสมเกสรอีกแรง แต่ก็ยังนับว่าเป็นวิธีทางธรรมชาติ

๒. วิธีการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนนนท์
การเก็บทุเรียนโดยทั่วไป แบ่งเป็น ๒ วิธี คือ ปล่อยให้หล่นเองตามธรรมชาติและการตัดผล สำหรับทุเรียนพื้นบ้านที่เนื้อไม่ดี เป็นทุเรียนปลูกจากเมล็ด ต้นสูงเรียกว่า “ทุเรียนโบราณ” หรือต้นสูงเกินไป ส่วนการตัดผลมักใช้กับทุเรียนพันธุ์ดีทั่วไปทำให้ขายได้ราคาดี แต่กับทุเรียนนนท์ทุกผล ใช้วิธีการตัดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากทุเรียนนนท์นั้นขายตีราคาต่อผล โดยมีความสมบูรณ์และสวยงามเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการประเมินราคา ดังนั้น การตัดผลทุเรียนจะตัดวิธีใดก็ได้ ให้ทุเรียนได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เมื่ออายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับตั้งแต่ดอกบานครบกำหนดเวลาแล้ว ชาวสวนจะต้องทำการตรวจสอบความแก่ของทุเรียนแต่ละผลเสียก่อน โดยบางสวนจะทำการสุ่มตัดทุเรียนลงมา ๑ ผล เพื่อดูว่าแก่เต็มที่หรือยัง ถ้าแก่แล้วจะทยอยตัดเพื่อจำหน่าย แต่หากยังไม่แก่พอ ชาวสวนจะมีประสบการณ์ในการคาดคะเน ว่าอีกกี่วัน ทุเรียนรุ่นเดียวกันนี้จะสามารถตัดได้หรือบางสวน ชาวสวนจะปีนขึ้นต้นทุเรียนเพื่อใช้นิ้วดีดฟังเสียงทุเรียนผลนั้นๆ ว่าแน่นหรือหลวม และมีอุปกรณ์ ได้แก่ มีด เชือก รอก ตะกร้า มีดติดปลายไม้รวก ตะกร้ารองรับสำหรับสอยผลทุเรียนปลายกิ่ง เป็นต้น

การตัดผลทุเรียนจะเริ่มที่การผูกมีดไว้กับปลายไม้ไผ่หรือไม้รวก แล้วใช้เชือกที่มีรอก(เกี่ยวกิ่ง) ปลายเชือกผูกเป็นปมแล้วพันขั้วทุเรียนใต้ปลิง ให้ปมขัดกับเชือกที่จะโรยลงมาสู่พื้นดิน (หลังร่องสวน) แล้วเชือกจะคลายหลุดเองไม่ต้องแก้มัด โดยมีใบตองรองผลทุเรียน หรือบางสวนอาจไม่ใช้เชือกพันขั้ว แต่อาจใช้ตะกร้ารองผลไว้แล้วโรยลงมา ซึ่งแต่ละสวนจะมีวิธีที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย ตามความถนัดของแต่ละสวน (เกษม, ๒๕๕๗)

ทุเรียนพันธุ์กระดุม อีลวง ที่ตัดมาแล้วจะต้องสุกไม่เกิน ๓ คืน (๓ วัน) ส่วนพันธุ์ชะนี สาวชม (สาวราชเนตร) ตัดมาแล้วจะต้องสุกไม่เกิน ๔ คืน พันธุ์ก้านยาวตัดมาแล้วจะต้องสุกไม่เกิน ๔ คืน (หากปล่อยให้แก่เกินไปจะห้าว) พันธุ์หมอนทอง ตัดมาแล้วจะต้องสุกไม่เกิน ๕ คืน ข้อสังเกตทุเรียนที่ตัดมาควรตีกองสุ่มไว้ ไม่ควรเอาผ้าคลุมเพราะจะทำให้ขั้วเน่าและปลิงหลุด ทุเรียนสวนเวลาจำหน่ายต้องมีปลิงติดอยู่กับขั้วเวลาสุกแล้วปลิงจะยังไม่หลุด จึงถือว่าทุเรียนที่ตัดมาได้คุณภาพ

๓. วิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนนนท์
จังหวัดนนทบุรีที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นฐานเกษตรกรรมชาวสวนผลไม้ที่เก่าแก่ ดินดี มีชื่อในเรื่องผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะทุเรียนที่มี ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและสามารถทำรายได้ให้เจ้าของสวนเป็นจำนวนมาก แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วม ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาและน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สวนทุเรียนนนท์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้วยชาวสวนหลายคนเป็นผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าร่างกายยังแข็งแรงดี แต่การทำสวนก็นับเป็นงานหนักเกินกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่ได้เหมือนตอนที่อายุยังน้อย บางสวนที่ลูกหลานรับช่วงต่อก็นับว่าเป็นโชคดี แต่บางสวนที่ลูกหลานละทิ้งการทำสวนก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากการปลูกทุเรียนขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลา ๔-๗ ปีเลยทีเดียว กว่าทุเรียนเหล่านั้นจะกลับมาให้ผลผลิตอีกครั้ง และมีสวนอีกจำนวนมากที่ถูกรุกล้ำ โดยการขยายที่อยู่อาศัยและชุมชน ด้วยราคาที่ดินที่สูงมาก เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนตัดสินใจขายที่ดินสวน จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ประชากรทุเรียนลดลงอย่างรวดเร็ว ทุเรียนที่เหลืออยู่ในจังหวัดนนทบุรีจึงกลายเป็นผลไม้หายาก

การสูญหายของพันธุกรรมทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี จึงเป็นเหตุที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพันธุ์ไม้เก่ายังมีอยู่มาก บางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่ เช่น ทุเรียน แต่สวนเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนสภาพไป จึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดด้วย เป็นผลให้พันธุกรรมพืชจังหวัดนนทบุรีอยู่ในแผนงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินงานร่วมกับ อพ.สธ. โดยปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้สำรวจและเก็บข้อมูลพันธุ์ทุเรียนใน ๖ อำเภอ ของจังหวัดนนทบุรี ทั้งสิ้น ๔๙ พันธุ์ โดยในช่วงเกิดมหาอุทกภัย ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้มีการตัดยอดกิ่งพันธุ์ ๓๐ พันธุ์ ไปเก็บรักษาพันธุกรรมที่ศูนย์พืชสวนจันทบุรีสำหรับนำมาขยายพันธุ์ที่นนทบุรี เมื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วมไปแล้ว เพื่อให้ทุเรียนนนท์ยังคงอยู่ต่อไป

๔. ระบบนิเวศในสวนทุเรียนนนท์
สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีเป็นถิ่นของการพัฒนาระบบนิเวศวิทยาทางการเกษตร โดยอาศัยความกลมกลืนของทรัพยากรกายภาพ (Physical resource) ทรัพยากรชีวภาพ (Biological resource) คุณภาพชีวิต (Quality of life) และคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ (Human-usevalue) ส่งผลให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ของชาวสวนนนทบุรีที่มีความประณีตในการทำสวน การดำเนินวิถีชีวิต การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรม ของการอยู่ร่วมกันโดยมีพื้นฐานของการดูแลรักษาพันธุ์ทุเรียน กว่า ๑๐๐ พันธุ์ คู คลอง ร่องสวน วัด และชุมชนเป็นสำคัญ แต่เมื่อเกิดนโยบายให้จังหวัดนนทบุรีเป็นเขตที่อยู่อาศัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของสวนทุเรียนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๔ ด้านข้างต้นเสียสมดุลไป (เกษม และ วิมลศรี, ๒๕๕๕; กิตติ และคณะ, ๒๕๕๖)

นนทบุรีตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เป็นที่ราบตะกอนน้ำท่วมถึง เพราะได้รับอิทธิพลมาจากน้ำเหนือ ที่หอบตะกอนดินและแร่ธาตุหลากมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นดินจึงเกิดขึ้นมาจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ การทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ต้องยกร่องเพราะอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง สวนผลไม้ในจังหวัดนนทบุรีมักจะอยู่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง เชื่อมต่อกันโดยร่องสวนจากแถบพื้นที่ริมแม่น้ำลำคลอง ความต่อเนื่องของพื้นที่ริมฝั่งดัดแปลง โดยชาวสวนที่มีประสบการณ์ในการนำทรัพยากรรอบบ้านมาสร้างประโยชน์แบบยั่งยืนอย่างแท้จริง (เกษม, ๒๕๕๗)
ความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำ จากผลการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดินพบว่าดินในพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดนนทบุรี มีลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียวเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่า pH ของดิน ๔.๒-๖.๖ มีปริมาณอินทรียวัตถุในระดับปานกลางถึงสูง มีธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในดิน อยู่ในระดับสูงถึงสูงมากและมีธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง ส่วนคุณภาพน้ำนั้น พบว่า มีค่า pH อยู่ในช่วง ๖.๘-๖.๙ ค่า EC อยู่ในช่วง ๐.๕๒-๐.๖๕ dS/m และมีค่าไบคาร์บอเนต (HCO-๓) อยู่ในช่วง ๒.๙๖-๓.๖๔ meq/liter (กิตติพงษ์ และคณะ, ๒๕๕๐)

ระบบนิเวศที่เกิดจากความหลากหลายของพืชปลูกภายในสวนทุเรียนเมืองนนท์ ล้วนมีเหตุผลในการเลือกปลูกของชาวสวนที่สืบทอดภูมิปัญญามาตั้งแต่สมัยโบราณ ต้นไม้แต่ละต้นจะเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเองภายในสวน ถึงแม้ทุเรียนจะเป็นพันธุ์ไม้หลัก แต่ไม้อื่นๆ ก็มีบทบาทสำคัญทั้งสิ้น เช่น การปลูกมะพร้าวกันลม การปลูกไผ่ลดอุณหภูมิในสวน การปลูกมะไฟเพื่อให้สวนปลอดวัชพืช และปลูกต้นทองหลางไว้ในสวนทุเรียนนนท์เป็นไม้พี่เลี้ยง นอกจากจะปลูกไว้เพื่อบังแดดบังลมแล้ว ใบทองหลางซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว เมื่อใบร่วงหล่นลงสู่ท้องร่อง ย่อยสลายในท้องร่องแล้ว นำมาใช้เป็นปุ๋ยทุเรียนได้อย่างดีและช่วยเพิ่มความโปร่งของดิน หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ชาวสวนจะเริ่มลอกท้องร่อง ใบไม้ที่เน่าเปื่อยและขี้เลนในท้องร่องจะเป็นปุ๋ยชั้นดี นอกจากนี้ต้นทองหลางยังใช้เป็นค้างชั้นดีสำหรับพริกไทสวน ที่ชาวสวนปลูกเพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลทุเรียน (www.dailynews.co.th/Content/Article) นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักสวนครัวไว้คลุมดินบนสันร่องที่ว่างหรือแคมร่อง นอกจากจะเอาไว้ใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถเก็บขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย (อังกาบ, ๒๕๔๗; เกษม, ๒๕๕๗)

๕. การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียน
การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียนของชาวสวนสามารถสรุปได้ดังนี้
ตั้งชื่อตามลักษณะภายนอก
การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียนตามลักษณะภายนอกของผลที่มีรูปร่างลักษณะที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ทุเรียนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ เช่น พันธุ์ตะเข้ อีบาตร หอยโข่ง ฟักทอง เป็นต้น
พันธุ์กบ: ลักษณะของผลทุเรียนเมื่อวางอยู่จะมีรูปร่างเหมือนกบ
พันธุ์ก้านยาว: ความยาวของก้านผลจะมากกว่าทุเรียนพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน

ตั้งชื่อตามลักษณะภายใน
ชาวสวนจะเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกับลักษณะสีเนื้อผลภายในของทุเรียนที่เห็นเด่นชัด เช่น
พันธุ์สารภี: เนื้อของทุเรียนมีสีเหลืองเข้มคล้ายสีดอกสารภี
พันธุ์กะเทย: ทุเรียนพันธุ์นี้มีเนื้อมากแต่เมล็ดลีบ
พันธุ์พวงมณี: เนื้อของทุเรียนมีสีเหลืองคล้ายสีดอกพวงมณี

ตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์เดิมผสมกับชื่อผู้เพาะ
การตั้งชื่อตามลักษณะของผลทุเรียน มีความยากลำบาก เมื่อทุเรียนพันธุ์ต่างๆ มากขึ้น จึงทำให้มีการตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียนโดยการตั้งชื่อพันธุ์เดิมเป็นชื่อต้นและตามด้วยชื่อผู้เพาะ เช่น
พันธุ์กำปั่นตาแพ: ทุเรียนที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ทุเรียนกำปั่น ซึ่งมีนายแพเป็นผู้เพาะพันธุ์ใหม่ได้
พันธุ์กบพลเทพ: ทุเรียนที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ทุเรียนกบ ซึ่งมีเจ้าคุณพลเทพเป็นผู้เพาะพันธุ์ใหม่ได้
พันธุ์กบเจ้าคุณ: ทุเรียนที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ทุเรียนกบ ซึ่งมีพระยาดำเกิงรณภพเป็นผู้เพาะพันธุ์ใหม่ได้

ตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์เดิมผสมกับลักษณะทั่วไปของทุเรียนที่เกิดขึ้นใหม่
การตั้งชื่อทุเรียนลักษณะนี้จะตั้งชื่อตามพันธุ์ทุเรียนที่นำมาเพาะ และตามด้วยลักษณะ ที่เห็นได้เด่นชัดแตกต่างจากต้นแม่ เช่น
พันธุ์ฉัตรสีนาก: เป็นทุเรียนที่เพาะจากทุเรียนพันธุ์ฉัตร แต่สีเนื้อมีสีเหมือนสีนาก
พันธุ์กะเทยเนื้อเหลือง: เป็นทุเรียนที่เพาะจากทุเรียนพันธุ์กะเทย แต่มีเนื้อสีเหลือง
พันธุ์กะเทยเนื้อขาว: เป็นทุเรียนที่เพาะจากทุเรียนพันธุ์กะเทย แต่มีเนื้อสีขาว
นอกจากนี้ยังมี กบใบไม้ กบกิ่งแข็ง ก้านยาวลูกใหญ่ เป็นต้น
ตั้งชื่อตามต้นไม้ที่ปลูกอยู่ใกล้เคียง
พันธุ์ชายมะไฟ: เป็นทุเรียนที่ปลูกอยู่ใกล้ต้นมะไฟ
พันธุ์ชายมังคุด: เป็นทุเรียนที่ปลูกอยู่ใกล้ต้นมังคุด

ตั้งชื่อตามสถานที่ที่ปลูก
เช่น พันธุ์กบหลังวิหาร พันธุ์กระปุกตลิ่งชัน พันธุ์กบวัดเพลง
การตั้งชื่อแบบเบ็ดเตล็ด
ไม่ได้อาศัยหลักเกณฑ์อะไรเลย เช่น ตั้งชื่อว่า สายหยุด กลีบสุนทร จอมโยธา สาวชม เป็นต้น (ทศพล, ๒๕๔๘)

๖. ความร่วมมือของชาวจังหวัดนนทบุรี ในการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์
การที่ทุเรียนนนท์มีราคาสูงกว่าทุเรียนทั่วไปตามท้องตลาด คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีการแนะนำกันปากต่อปาก จึงมีพ่อค้าที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า นำทุเรียนนอก (ทุเรียนที่ไม่ใช่ผลผลิตจากสวนในจังหวัดนนทบุรี) ที่คุณภาพด้อยกว่าทุเรียนสวนนนท์ มาขายปะปนกัน แล้วขายในราคาสูง เมื่อผู้บริโภคซื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพของสวนนนท์ไป ทำให้เสียชื่อเสียงในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๐ สมัย ดร.สุกิจ จุลละนันท์ เป็นผู้ว่าจังหวัดนนทบุรี ชาวสวนนนท์จึงเริ่มรวมตัวก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทุเรียนนนท์เกิดขึ้น เพื่อให้ทุเรียนปะปนมาขายหายไปจากจังหวัดนนทบุรี ชาวสวนจึงมีการประทับตราสวนบนก้านทุเรียน เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามไปที่เจ้าของสวนได้

ซึ่งเจ้าของสวนจะมีการรับประกันคุณภาพ ของสินค้า และสนับสนุนส่งเสริมให้มีการขายผลผลิตที่หน้าสวน และงานเทศกาลทุเรียนนนท์ที่วัดใหญ่สว่างอารมณ์และเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ เท่านั้น โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากการรวมกลุ่มเพื่อขายแล้ว การรวมกลุ่มทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ระหว่างชาวสวนทุเรียนด้วยกัน เกิดเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากความร่วมมือของชาวสวน ที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมให้ผลผลิตมีคุณภาพและขายได้ราคาดีแล้ว ยังมีความร่วมมือระหว่างชาวสวน และหน่วยงานต่างๆ ในการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี โดยแต่ละสวนมีการปลูกพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้บ้าง ถึงแม้ผลผลิตที่ได้อาจจะไม่ให้ผลตอบแทนสูงเหมือนพันธุ์การค้าแต่ก็เป็นสมบัติของสวนที่จะคงอยู่ถึงคนรุ่นหลัง ให้ได้รู้จักทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิม โดยกิ่งพันธุ์ทุเรียนดังกล่าว ก็จะได้รับแจกจากทางหน่วยงานราชการ หรือบางกิ่งจะได้รับพระราชทานมาปลูกไว้ในสวนของตน ถึงแม้จะไม่ได้ปลูกพันธุ์ดั้งเดิมในปริมาณมากเหมือนสวนดั้งเดิมที่ปลูกมาแต่รุ่นพ่อแม่ แต่ก็ยังสามารถหาทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองได้ นับว่าเป็นการรวบรวมและอนุรักษ์ทุเรียนนนท์อีกทาง รวมถึงแปลงรวบรวมพันธุ์ทุเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดนนทบุรี ในโครงการศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ที่ได้รับความร่วมมือจากชาวสวน ที่เข้าไปประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง วางแผน ปลูก ดูแลรักษา และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันในการอนุรักษ์เพื่อให้ทุเรียนนนท์ของขึ้นชื่อของจังหวัดนนทบุรีเป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป

ใส่ความเห็น