You are currently viewing สภาพสวนทเุเรียนในจังหวัดนนทบุรี

สภาพสวนทเุเรียนในจังหวัดนนทบุรี

ในจังหวัดนนทบุรีเป็นสภาพสวนแบบยกร่องขนาดเล็กประกอบด้วยหลายร่องในแต่ละขนัด ซึ่งทุกร่องสวนจะมีร่องน้ำที่ออกแบบให้เชื่อมโยงถึงกันหมด และเชื่อมต่อไปยังลำรางสาธารณะรอบๆ แปลงปลูก(ขนัด) ซึ่งลำรางสาธารณะขนาดเล็กนี้ นอกจากจะใช้เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของ ต้นทุเรียนและสภาพแวดล้อมแล้ว ยังใช้เพื่อเป็นแนวแบ่งพื้นที่สวนอีกด้วย ดังนั้น ในสภาพดินของจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม มีระดับน้ำใต้ดินสูง เป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำไม่ดี ซึ่งทำให้การปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีจำเป็นต้องทำโคก เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดน้ำให้แก่ต้นทุเรียน และมีการขยายขนาดโคกทุกปีเพื่อให้ต้นทุเรียนมีพื้นที่สำหรับการดูดน้ำ และธาตุอาหารมากเพียงพอต่อความต้องการของต้นทุเรียนที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดการทำสวนที่เป็นภูมิปัญญาสะสมมานั้น สอดคล้องกับลักษณะความต้องการของต้นทุเรียน มีการปรับสภาพแวดล้อมในระบบดินให้เหมาะสม

แนวคิดการจัดทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีในภาพรวมจะเหมือนกัน คือ จะต้องบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยต้องปลูกต้นทุเรียนบนร่องสวนที่มีการยกโคก และทำร่องน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้มีปริมาณน้ำ และมีการถ่ายเทอากาศภายในบริเวณโคก สัมพันธ์กับสภาพฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝนและฤดูกาล ดังนั้น จะให้ความสำคัญกับการระบายน้ำออกจากโคกดินอย่างรวดเร็ว ด้วยการทำแนวน้ำไหลออกบริเวณรอบโคกปลูก และการควบคุมระดับน้ำในร่องน้ำ ให้ต่ำกว่าระดับพื้นดินบนท้องร่องเสมอ ด้วยการทำประตูกันทางเชื่อมที่ติดต่อกับลำรางสาธารณะ และติดตั้งระบบปั๊มเพื่อสูบน้ำเข้าหรือดูดน้ำออกร่วมกับประตูน้ำ

การให้ปุ๋ยของสวนในจังหวัดนนทบุรีจะเน้นความสำคัญของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หมักจากใบทองหลางและดินโคลน การปลูกบนโคกจะต้องขยายพื้นที่ดินสำหรับการหาธาตุอาหารของรากทุเรียน จึงต้องเพิ่มปริมาณพื้นที่รากโดยการขยายโคก ภูมิปัญญาชาวสวนที่สั่งสมมาจึงใช้เทคนิคการลอกท้องร่องเป็นงานประจำทุกปีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สภาพฟ้าอากาศในสวนจังหวัดนนทบุรี เช่น อุณหภูมิสูงในฤดูร้อน ชาวสวนสมัยโบราณมีกุศโลบายในการแก้ปัญหาโดยการปลูกทุเรียนร่วมกับต้นทองหลาง ซึ่งพืชชนิดนี้จะมีการเจริญเติบโตเร็ว มักพบว่าปลูกอยู่ริมร่องน้ำ ซึ่งไม่ได้แย่งพื้นที่การรับแสงของต้นทุเรียน แต่จะช่วยพรางแสงให้แก่ผลทุเรียนได้ จึงเป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่งของพืชชนิดนี้

ใส่ความเห็น