เสี้ยวประวัติ

เสี้ยว...ประวัติศาสตร์


  ปากเกร็ด เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจังหวัดนนทบุรีนั้น เดิมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีไทย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงโปรดให้ยกฐานะของ บ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี บริเวณตัวเมืองดั้งเดิมขณะนั้น คือ ท้องที่ตำบลบางกระสอในปัจจุบัน

ในปีพุทธศักราช ๒๑๗๙ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองอ้อมใหญ่ไปทะลุคลองบางกรวยตอนใต้ของวัดเขมาภิรตาราม ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร คลองนี้ถูกกระแสน้ำที่ไหลแรงขุดเซาะจนกว้างมาก กลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราวปีพุทธศักราช ๒๒๐๘ ทรงเห็นว่า การที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศ ทำให้ข้าศึกประชิดเมืองได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย

พุทธศักราช ๒๒๖๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดเกร็ด ที่อำเภอปากเกร็ด ความยาวได้ ๓๙ เส้นเศษจวบจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๗ เมืองนนทบุรีเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่า และถูกพม่ายกค่ายเข้าเมืองในช่วงเหตุการณ์นี้ และจนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ตั้งของเมืองนนทบุรี จึงได้มีการโยกย้ายอีกครั้งเป็นบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน

ประชากรของจังหวัดนนทบุรี ประกอบไปด้วยชนชาวไทยที่สืบเชื้อสาย มาจากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน มอญ แขก เป็นต้น โดยชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายมอญ อพยพมาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยดังนี้
ในจังหวัดนี้ มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญอยู่มากแถวอำเภอปากเกร็ด ตั้งแต่ปากคลองบางตลาด ฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือคลองบางภูมิขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย

เดิมอำเภอปากเกร็ด ตั้งที่ว่าการอำเภอที่วัดสนามไชย มีตำบล ๑๐ ตำบล หมู่บ้าน ๑๖๘ หมู่บ้าน พื้นที่ของอำเภอปากเกร็ดนั้นมีที่นามากกว่าที่สวน โดยสวนมีทุเรียนและสวนส้มเขียวหวาน เป็นไม้ยืนและมีผลไม้อื่นเป็นไม้แซม นอกจากการทำนาทำสวนแล้ว ยังมีการทำหัตถกรรมเครื่องดินเผาของบ้านเกาะเกร็ด โดยชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนี้เป็น คนไทยเชื้อสายมอญ ที่ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ดนิยมสลักลวดลายอย่างสวยงาม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของปากเกร็ด

ปัจจุบันนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอปากเกร็ดคือพื้นที่ของเทศบาลนครปากเกร็ด ครอบคลุมพื้นที่ ๕ ตำบล คือ ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางพูด ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ และสภาพพื้นที่สวนผลไม้ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่รองรับการขยายตัว เป็นที่พักอาศัยและอุตสาหกรรม จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ฝั่งตะวันออกของปากเกร็ดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย

 

...